การเลี้ยงแมว หรือไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงอะไรก็ตาม ผู้นำสัตว์เหล่านี้มาเลี้ยงก็ต้องเกิดจากความรักแน่นอน พอนำมาเลี้ยงแล้วก็อยากที่จะดุแลมันให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการมีพื้นที่ให้มันวิ่งเล่น มีของเล่นมากมายให้เล่น ดูแลทำความสะอาดมีที่นอนนุ่ม ๆ ให้ รวมทั้งด้านอาหารการกิน ก็จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด จนบางครั้งอาจจะทำให้เจ้าเหมียวของคุณมีน้ำหนักมากเกินไป แต่คุณกลับรู้สึกว่ามันยิ่งอ้วนยิ่งน่ารัก ทำให้ผู้เลี้ยงแมวเกือบทุกคนอยากให้แมวของตัวเองอ้วน จนลืมไปว่าอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของแมวหรือไม่ โดยวันนี้ dertdai จะพาคุณไปรู้จักกับ 7 ปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อแมวของคุณอ้วนขึ้น ส่วนจะมีปัญหาด้านไหนบ้าง ตามไปดูกัน
แมวที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน
ปัจจัยที่อาจทำให้แมวของคุณอาจต้องต่อสู้กับปัญหาน้ำหนักเพิ่มขึ้นและความอ้วน
- เมื่อแมวของคุณเป็นแมวพันธุ์ยุโรปขนสั้นมากกว่าพันธุ์แท้
- แมวอายุระหว่าง 5-10 ปี และมีกิจกรรมลดลง ไม่ค่อยขยับตัว
- เมื่อแมวของคุณกินอาหารบ่อย และมากกว่าปริมาณที่แนะนำ
- เมื่อแมววิตก ซึมเศร้า หรือทรมานจากความเครียดทางจิตใจหรืออารมณ์
- แมวตัวผู้ เมื่อแมวของคุณทำหมันแล้ว แมวจะมีแนวโน้มน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะหลังผ่าตัดจะทำให้ความต้องการพลังงานของแมวลง 1 ใน 3 ส่วน แต่ความอยากอาหารของพวกแมวสามารถเพิ่มขึ้นระหว่าง 18-26%
7 ปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อแมวของคุณอ้วนขึ้น
1. โรคกระดูกและข้ออักเสบ
เริ่มกันที่ความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกและข้ออักเสบ ซึ่งเมื่อแมวมีน้ำหนักมาก ข้อต่อและกระดูกก็ต้องรองรับภาระมากขึ้นตามไปด้วย เรื่องนี้อันตรายสำหรับแมวมากกว่าสุนัข เพราะกิจกรรมของแมวมักข้องเกี่ยวกับการกระโดดขึ้นที่สูงหรือใช้ความยืดหยุ่นของร่างกายมากกว่าสุนัข โอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บของกระดูกจึงมีมากกว่า

2. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ
ต่ออีกโรคที่แมวของคุณจะมีความเสี่ยง ซึ่งการที่แมวอ้วนจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้แมวเข้าห้องน้ำน้อยลง ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้ปัญหาแย่ยิ่งขึ้นไปอีก หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจทำให้แมวเป็นนิ่วได้

3. โรคเบาหวาน
อีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่มาพร้อมกับความอ้วนไม่ว่าจะหมา แมวหรือมนุษย์ก็ตาม ความอ้วนจะมีผลกับการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น

4. โรคหัวใจและหลอดเลือด
เมื่อไขมันสะสมตามเส้นเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเป็นจำนวนมาก หัวใจก็จำเป็นที่ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจและความดันได้ง่าย แมวบางสายพันธุ์ก็มักมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นเช่น เมนคูน เป็นต้น
5. ตับวาย
เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับแมวที่เป็นโรคอ้วนคือ ภาวะตับวาย เมื่อร่างกายของแมวเชื่อว่ามีสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น ถ้าแหล่งผลิตอาหารหยุดลง ไขมันจะถูกย้ายจากบริเวณที่ถูกเก็บไว้ไปยังตับเพื่อใช้เป็นพลังงาน อย่างไรก็ตาม ร่างกายของแมวไม่สามารถจัดการกระบวนการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ตับทำงานได้ไม่ดี จนบางครั้งในที่สุดก็นำไปสู่ภาวะตับทำงานบกพร่องและตับวายได้
6. ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ในด้านระบบภูมิคุ้มกันของแมวอาจบกพร่องได้เมื่อแมวอ้วนเกินไป จะทำให้แมวมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า และรวมถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และนิ่ว ซึ่งเกิดขึ้นได้เนื่องจากแมวที่มีน้ำหนักมากเกินไปจะไม่ค่อยขยับตัว มักจะดื่มน้ำน้อยและปัสสาวะน้อยครั้งกว่าแมวที่มีสุขภาพดี
7. การทำกิจกรรมลดลง คุณภาพชีวิตต่ำลง
ปิดท้ายกันด้วยด้านคุณภาพชีวิตของแมวต่ำลง เนื่องจากเมื่อแมวมีน้ำหนักที่มากเกินไปทำให้ไม่มีความคล่องตัว ไม่ซุกวนเหมือนนิสัยปกติ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะลดลงไปด้วย และยังทำให้อายุของแมวสั้นลงอีกด้วย
การที่แมวของเราอ้วนขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่ามันน่ารักมากจริง ๆ แต่ก็จะเป็นผลเสียและเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องมีการดูแลควบคุมปริมาณอาหารของแมว ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์และช่วงอายุ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี